หลักการและเหตุผล


โรงเรียนไผทอุดมศึกษาได้รับหลักการและนโยบายการพัฒนาหลักสูตรและกระบวนการเรียนการสอนหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานให้มีประสิทธิภาพที่มุ่งเน้นพัฒนาศักยภาพผู้เรียนให้มีสุนทรียภาพทางอารมณ์ สุขภาพ และ บุคลิกภาพที่ดี กล้าคิด กล้าทำ กล้าแสดงออกและส่งผลสัมฤทธิ์ในระยะยาวโรงเรียนจึงได้ศึกษากระบวนการเรียนรู้ที่หลากหลายมาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเรียนรู้อย่างมีความสุข จากการค้นคว้าศึกษาโรงเรียนสนใจที่จะพัฒนากระบวนการเรียนรู้รูปแบบใหม่จากพื้นฐานของทฤษฎีและแนวทางของ Project – Based Learning หรือ Project approach ซึ่งมีหลากหลายรูปแบบ โรงเรียนไม่สามารถจัดกระบวนการเรียนรู้แบบ Project – Based Learning อย่างเต็มรูปแบบที่จะให้อิสระกับนักเรียนในทุกๆขั้นตอนของกิจกรรมให้นักเรียนวางแผนและศึกษาด้วยตนเองอย่างแท้จริง เนื่องจาก โรงเรียนมีนักเรียนจำนวนมาก และ ครูที่มีหน้าที่รับผิดชอบใน Project ยังไม่คุ้นเคยและเข้าใจกระบวนการเรียนรู้แบบนี้ นอกจากนั้นแล้วโรงเรียนยังต้องดำเนินการสอนให้ครบตามมาตรฐานการเรียนรู้ที่กระทรวงกำหนด การให้นักเรียนมีอิสระในการกำหนดจะทำให้ควบคุมมาตรฐานการเรียนรู้ได้ยากซึ่งจะเป็นปัญหาต่อการวัดผลประเมินผลต่อไป
โรงเรียนจึงประยุกต์หลักการต่างๆในการเรียนรู้แบบ Project เช่น Problem – Based learning, Inquiry – Based Learning, Student centered, Self – Accessed Learning  สร้างเป็นกระบวนการเรียนรู้แบบ Project Approach in Patai’s Style ที่เหมาะสมกับทรัพยากรและสถานภาพของโรงเรียน, ครู และนักเรียนโรงเรียนโดยพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนในกลุ่มสาระศิลปะ การงานและเทคโนโลยี พลศึกษาและสุขศึกษา  ให้ใช้กระบวนการเรียนการสอนแบบ Project – Based Learning ซึ่งเป็นการเรียนรู้แบบบูรณาการที่ผสมผสานระหว่างการเรียนตามมาตรฐานของแต่ละกลุ่มสาระ (Subject – Matter Standards) กับการเรียนตามสภาพจริง (Authentic Learning Environment
)

 

 

สภาพปัญหานักเรียน – ครู – โรงเรียน

 

ด้านผู้เรียน

  • ขาดความกระตือรือร้นในการเรียน
    นักเรียนเบื่อหน่ายกับการเรียนการสอนแบบเดิมๆถึงจะมีกิจกรรมบ้าง แต่ก็ไม่พอที่จะกระตุ้นให้นักเรียนรู้สึกมีส่วนร่วมในการเรียนรู้ 

  • ความแตกต่างในนักเรียนแต่ละบุคคล
    ถึงแม้ว่านักเรียนในชั้นเรียนจะมีอายุที่ไล่เลี่ยกัน แต่ละคนมีความรู้พื้นฐาน ความสามารถ ความสนใจ สภาวะร่างกาย และอารมณ์ ที่แตกต่างกัน

  • ขาดความรับผิดชอบ
    โดยธรรมชาติของวัฒนธรรมการเลี้ยงดูแบบไทยๆไม่เปิดโอกาสให้เด็กได้รับผิดชอบที่จะตัดสินใจหรือทำงานอย่างใดอย่างหนึ่งด้วยตนเอง ผู้ปกครองและครูมักจะช่วยเหลือหรือบางทีก็ลงมือทำให้ เด็กส่วนใหญ่จึงไม่รู้จักหน้าที่และความรับผิดชอบต่อหน้าที่ของตนเอง

  • ปัญหาการอยู่ร่วมกันในสังคม
    นักเรียนส่วนใหญ่มีปัญหาในการรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น ไม่รู้จักการเป็นผู้นำ – ผู้ตามที่ดี นักเรียนต้องการจะทำแต่สิ่งที่ตนเองต้องการ ทำให้ขาดการเอื้อเฟื้อเกื้อกูล นอกจากนี้แล้วนักเรียนมักมีปัญหาในการปฏิบัติตามกฎระเบียบ อาจเนื่องมาจากการเลี้ยงดู และ ความหย่อนยานในการดูแลให้นักเรียนทำตามกฎเกณฑ์ต่างๆ ถึงแม้ในการเรียนการสอนปกติจะกำหนดให้มีการทำงานเป็นกลุ่มบ้างแต่ก็ยังน้อยไม่เพียงพอกับการสร้างสมลักษณะนิสัย

  • ไม่คุ้นเคยการจัดการและการทำงานอย่างเป็นระบบ
    กระบวนการเรียนรู้ส่วนใหญ่ครูจะเป็นผู้กำหนดขั้นตอนในการเรียนรู้มาให้นักเรียน นักเรียนมีหน้าที่แค่ทำตามขั้นตอนที่ถูกกำหนดมาแล้ว นักเรียนจึงไม่สามารถจัดการหรือสร้างระบบการทำงานที่มีประสิทธิภาพด้วยตนเอง

ด้านผู้สอน

  • การสอนรูปแบบเก่าๆตามความเคยชิน
    ครูไม่กระตือรือร้นที่จะหากิจกรรม หรือ วิธีการใหม่ๆมาสอนนักเรียน เนื่องจากไม่คุ้นเคยและไม่ชอบการเปลี่ยนแปลง

  • ปัญหาการขาดครู
    ปัญหาการขาดแคลนครูที่เกิดขึ้นในขณะนี้ ทำให้ครูหนึ่งคนต้องดูแลนักเรียนจำนวนมากขึ้น ครูเกิดความเหนื่อยล้า ส่งผลกระทบในคุณภาพของงานและนักเรียน

  • ไม่เห็นความสำคัญของการหาความรู้เพิ่มเติม
    ครูไม่เห็นความสำคัญของการหาความรู้เพิ่มเติมใส่ตัวอันอาจเกิดจากหลายสาเหตุ แต่ถ้าครูนำเรื่องเก่าๆ ล้าสมัยไปสอนนักเรียนก็จะไม่สามารถเปิดโลกทัศน์ใหม่ๆให้แก่นักเรียนได้

ด้านข้อจำกัดของโรงเรียน

  • จำนวนนักเรียน
    โรงเรียนไผทอุดมศึกษาเป็นโรงเรียนขนาดใหญ่ มีนักเรียนในแต่ละระดับชั้นมาก

  • แหล่งเรียนรู้ และภูมิปัญญาท้องถิ่น
    เนื่องจากโรงเรียนตั้งอยู่ในเมือง ทำให้แหล่งเรียนรู้ทางธรรมชาติ และ แหล่งเรียนรู้ที่เกี่ยวกับภูมิปัญญาท้องถิ่นจะน้อยมาก

  • ความเข้าใจจากผู้ปกครอง
    ความเชื่อและความต้องการแบบเก่าๆของผู้ปกครอง เกี่ยวกับเรื่องการท่องจำ การติว ไม่ต้องการให้นักเรียนทำชิ้นงานต่างๆเพราะเป็นการเสียเวลา

 

 

หน้าหลัก หลักการและเหุตผล การพัฒนานวัตกรรม Project Approach in Patai's Style ตัวอย่าง Project นักเรียน-ครู-ผู้ปกครอง บรรณานุกรมและอ้างอิง