แบบทดสอบก่อนเรียน | แผนการสอน | ผลการศึกษา | เกร็ดเล็กเกร็ดน้อย | Vocab 8 Wat | สรุปผลการศึกษา

วัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหาร

ชีวิตในวัยหนุ่มของสุนทรภู่เริ่มมีชื่อเสียง เพราะเป็นคนเจ้าบทเจ้ากลอน บอกบทกลอนดอกสร้อยสักวาได้เก่ง แต่มีความเจ้าชู้ ความเป็นหนุ่มคะนองได้ชักพาให้สุนทรภู่ไปชอบกับหญิงคนหนึ่งชื่อจัน แล้วได้เขียนเพลงยาวถึงนางจัน จนกระทั่งบิดาของนางจันทราบ จึงให้คนจับต้องเวรจำแต่ก็ถูกขังอยู่ไม่นานเท่าไร สุนทรภู่ก็ได้รับการปล่อยตัวแล้วก็คิดถึงบิดาขึ้นมา และก็มีอายุที่สามารถที่จะบวชได้แล้ว จึงเดินไปที่เมืองแกลง และได้แต่งนิราศเมืองแกลงขึ้น ซึ่งเป็นนิราศเรื่องแรกของสุนทรภู่ ต่อมาได้แต่งงานกับแม่จัน เพราะอัครชายาของกรมพระราชวังหลังทรงเมตตาจัดการให้ แต่ต่อมาเกิดทะเลาะขัดใจแม่จัน
ระหว่างที่โกรธกันสุนทรภู่ได้ถวายตัวเป็นมหาดเล็กของพระองค์เจ้าปฐมวงศ์ ซึ่งทรงผนวชอยู่ที่วัดระฆังโฆษิตาราม และตามเสด็จพระองค์เจ้าปฐมวงศ์ไปพระพุทธบาทและแต่งนิราศพระบาทปรากฏเป็นคำประพันธ์ที่นิยมในปัจจุบันดังนี้

“เจ้าของตาลรักหวานขึ้นปีนต้น ระวังตนตีนมือระมัดมั่น”
เหมือนคบคนคำหวานรำคาญครัน ถ้าพลั้งพลันเจ็บอกเหมือนตกตาล
   
“ถึงบางซื่อชื่อบางนี้สุจริต เหมือนซื่อจิตที่พี่ตรงจำนงสมร”
มิตรจิตขอให้มิตรใจจร ใจสมรขอให้ซื่อเหมือนชื่อบาง



เมื่อสุนทรภู่กลับจากพระพุทธบาทแล้ว แม่จันก็ยังไม่ยอมคืนดีด้วย สุนทรภู่กลุ้มใจก็ดื่มเหล้าทุกวัน ในที่สุดพระองค์เจ้าปฐมวงศ์ที่ทรงรับสุนทรภู่มาอุปการะไว้ก็เกิดความระอา สุนทรภู่น้อยใจ จึงเดินทางไปเมืองเพชรบุรี

“แล้วเดินดูภูผาศิลาเลื่อม บางงอกเงื้อมเงาระยับสลับสี”
เป็นห้องน้อยร้อยหนังสือลายมือมี คิดถึงปีเมื่อเป็นบ้าเคยมานอน
ชมลูกจันกลั่นกลั่นระรินรื่น จนเที่ยงคืนแขนซ้ายกลายเป็นหมอน
เห็นห้องหินศิลาน่าอาวรณ์ เคยกล่าวกลอนกล่อมช้าโอ้ชาตรี

 

สิ่งที่น่าสนใจภายในวัด
หอพระไตรปิฎก สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๑ โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ขุดสระแล้วรื้อพระตำหนักและหอนั่งของพระองค์เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งพระราชวรินทร์ ที่ทรงปลูกไว้ทางด้านตะวันตกของพระอุโบสถเก่า (ปัจจุบันเป็นที่ตั้งพระวิหาร) มาปลูกลงในสระทำหอพระไตรปิฎกเป็นรูปเรือนสามหลังแฝดชายคาเป็นรูปเทพพนมเรียงรายเป็นระยะ กั้นกระแชงเป็นฝาไม้สักลูกปะกน ตัวเรือนติดคันทวยที่สวยงามมาก หอพระไตรปิฎกแห่งนี้เป็นที่ชุมนุมงานฝีมือของช่างชั้นครูสมัยรัตนโกสินทร์ เช่นลายจำหลักไม้ที่ซุ้มและบานประตูกลาง ฝีพระหัตถ์รัชกาลที่ ๒ ภาพจิตรกรรมฝาผนังเขียนเป็นรูปมาฆมาณพสร้างศาลา ฝีมืออาจารย์นาค เป็นต้น นอกจากนั้นยังมีพระไตรปิฎกขนาดใหญ่ซึ่งเป็นตู้ลายรดน้ำสมัยกรุงศรีอยุธยาประดิษฐานไว้ในห้องด้านเหนือและห้องด้านใต้ บานประตูชานด้านนอกสลักเป็นลายมังกรมีซุ้มแลกรุงเก่าสวยงามมาก หอพระไตรปิฎกแห่งนี้บางคนเรียกว่า ตำหนักต้นจันทน์ เพราะเมื่อบูรณะเสร็จ รัชกาลที่ ๑ ทรงปลูกต้นจันทร์ไว้โดยรอบทั้งแปดทิศ ปี พ.ศ.๒๕๑๑ ทางวัดร่วมกับสมาคมสถาปนิกสยามได้บูรณะและปฏิสังขรณ์ใหญ่ภายใต้การควบคุมดูแลของอาจารย์เฟื้อ หริพิทักษ์ ศิลปินแห่งชาติ ผู้ทุ่มเทซ่อมแซมภาพเขียนในหอพระไตรปิฎกแห่งนี้มาก่อนแล้ว


พระปรางค์องค์ใหญ่ เป็นพระปรางค์เดียวในกรุงเทพฯ ที่เป็นศิลปะแบบอยุธยา ซึ่งสมเด็จกรมพระยานริศรานุวัติวงศ์ทรงยกย่องว่าเป็นพระปรางค์ที่มีลักษณะและทรวดทรงงดงามถูกแบบแผนที่สุด


หอระฆัง สร้างเป็นแบบจัตุรมุข ซึ่งเป็นศิลปะสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย มีระฆังที่ได้รับพระราชทานจากรัชกาลที่ ๑ แขวนไว้จำนวน ๕ รูป



ตำหนักแดง เดิมอยู่ในพระราชวังเดิม ต่อมาสมเด็จพระราชวังบวรสถานพิมุขกรมพระราชวังหลัง (เจ้าฟ้ากรมหลวงอนุรักษ์เทเวศร์) ทรงโปรดฯ ให้ย้ายมาสร้างทางด้านทิศเหนือของพระอุโบสถหลังใหม่ ภายในมีภาพจิตรกรรม สันนิษฐานว่าเดิมเป็นพระตำหนักของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงใช้เป็นที่เจริญพระกรรมฐาน



พระอุโบสถ สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๒ แทนพระอุโบสถหลังเดิมที่เปลี่ยนเป็นพระวิหาร หลังคาทำลดสามชั้น มีช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ และคันทวย สลักเสลาอย่างสวยงาม หน้าบันทำเป็นรูปนารายณ์ทรงครุฑประดับลายกนกปิดทอง ใต้หน้าบันเจาะเป็นช่องหน้าต่างสองช่องตามแบบที่นิยมในสมัยธนบุรี บานประตูหน้าต่างนอกเขียนลายรดน้ำปิดทองเป็นรูประฆังภายในพระอุโบสถมีพระประธานซึ่งหล่อขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๒ เหนือพระเศียรมีเศวตฉัตรเก้าชั้นซึ่งเคยใช้กั้นในงานพระเมรุมศรัชกาลที่ ๑ ที่ผนังมีภาพเขียนทศชาติชาดกฝีมือประณีตของพระวรรณวาดวิจิตร (ทอง จารุวิจิตร) จิตรกรเอกสมัยรัชกาลที่ ๖


พระสำคัญรูปหนึ่งที่เคยพำนัก ณ วัดแห่งนี้คือ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) ซึ่งเป็นพระที่มีความรู้แตกฉานในพระไตรปิฎกและทรงคุณในด้านวิปัสสนาธุระ ปัจจุบัน พระเครื่อง “สมเด็จ” จึงยังเป็นที่นิยมในหมู่นักเลงพระเครื่อง


วัดระฆังโฆษิตารามได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานสำคัญของชาติเมื่อ พ.ศ.๒๔๙๒

วัยหนุ่มใหญ่ – วัดราชบูรณะ
- วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร
- วัดพระเชตุพน
- วัดมหาธาตุ


เมื่ออายุ ๓๕ ปี ชีวิตของสุนทรภู่ก็เริ่มดีขึ้น เพราะตอนนั้นพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงโปรดการกวีนิพนธ์ และเห็นแววกวีนิพนธ์ของสุนทรภู่ จึงทรงกรุณาโปรดฯ ให้หาตัวเข้ารับราชการเป็นอาลักษณ์ ตั้งแต่สุนทรภู่ได้เข้ารับราชการแล้ว ก็เป็นที่โปรดปรานมาก


เมื่อสุนทรภู่ได้เป็นขุนสุนทรโวหารขึ้นมาแล้ว ชีวิตก็มีความสุขมากขึ้น มีแม่จันเป็นขวัญชีวิต มีลูกชาย๙อหนูพัด แต่ก็ยังเป็นคนเจ้าสำราญอยู่เช่นเดิม ก็ยังกินเหล้าและเจ้าชู้มากขึ้น โดยแอบไปได้เสียกับนางนิ่มหญิงในคลองบางกรวย แม่จันจึงพาลูกไปอยู่กับผู้ใหญ่บริเวณวังหลัง สุนทรภู่ก็ได้ตามไปขอคืนดีแต่ไม่สำเร็จ ภายหลังจึงอย่าจากกัน ช่วงนี้สุนทรภู่เขียนหนังสือปรากฏผลงาน เช่น สวัสดิรักษา, เห่กล่อมพระบรรทม และสิงหไกรภพ


สุนทรภู่รับราชการอยู่ไม่กี่ปี พอถึง พ.ศ. ๒๓๖๗ รัชกาลที่ ๒ เริ่มประชวร ประชวรมา ๘ วันก็สวรรคต


การสวรรคตของรัชกาลที่ ๒ นั้น ทำให้ชีวิตของสุนทรภู่แปรผัน เมื่อโอรสของรัชกาลที่ ๒ เสด็จขึ้นครองราชย์ ทรงพระนามว่า พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวหรือรัชกาลที่ ๓ สุนทรภู่เกรงพระราชภัย เพราะเคยมีเรื่องแคลงใจกันอยู่ จึงลาออกราชการ


เมื่อสุนทรภู่ออกมาจากวังแล้ว ท่านสุนทรภู่ก็คิดหนีบวช เมื่อสุนทรภู่บวชนั้นอายุได้ ๓๙ ปี (ปี พ.ศ.๒๓๖๗) แล้วลงเรือเที่ยงไปตามที่ต่าง ๆ


เมื่อกลับจากพิษณุโลกแล้ว พระภู่ลงมาจำพรรษาที่วัดราชบูรณะและได้แต่งนิราศภูเขาทอง ขณะเดินทางไปนมัสการเจดีย์ภูเขาทองที่อยุธยา นิราศภูเขาทองเป็นนิราศที่ได้รับการยกย่องว่า ยอดเยี่ยมมีการแสดงความในใจของสุนทรภู่ขณะตกอับไว้มาก เช่น



   
“ โอ้ผ่านเกล้าประคุณของสุนทร แต่ปางก่อนเคยเฝ้าทุกเช้าเย็น “
พระนิพพานปานประหนึ่งศีรษะขาด ด้วยไร้ญาติยากแค้นถึงแสนเข็ญ
   
“ ถึงบางพูดพูดดีเป็นศรีศักดิ์ มีคนรักรสถ้อยอร่อยจิต “
แม้พูดชั่วตัวตายทำลายมิตร จะชอบผิดในมนุษย์เพราะพูดจา
   
“ สิ้นแผ่นดินสิ้นนามตามเสด็จ ต้องเที่ยวเตร็ดเตร่หาที่อาศัย
แม้กำเนิดเกิดชาติภพใดใด ขอให้ได้เป็นข้าฝ่าธุลี
สิ้นแผ่นดินขอให้สิ้นชีวิตบ้าง อย่ารู้ร้างบงกชบทศรี
เหลืออาลัยใจตรมระทมทวี
ทุกวันนี้ก็ซังตายทรงกายมา “





บรรณานุกรม
ชีวิตและผลงานของสุนทรภู่. กรุงเทพมหานคร : องค์การค้าคุรุสภา, 2543.
ศิลปวัฒนธรรม. กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์เจ้าพระยา, 2528.
ประวัติวัดชิโนรสารามวรวิหารและกฎแห่งกรรม. กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์องค์การรับส่งสินค้าและวัสดุภัณฑ์, 2546.


สมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทย. อนุสรณ์สุนทรภู่ 200 ปี. กรุงเทพมหานคร : อมรินทร์การพิมพ์, 2529.


คู่มือนำเที่ยววัดโพธิ์. วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรวิหาร. กรุงเทพมหานคร, 2540.


พระมหาสวัสดิ์ อหึสโก. สิ่งน่ารู้ในวัดอรุณราชวราราม. กรุงเทพมหานคร : รุ่งวัฒนาการพิมพ์, 2537.


พระมหาอุดม อติเมโธ. ชีวประวัติและผลงานของสุนทรภู่. กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์เลี่ยงเชียง,
(ไม่ปรากฏปีที่พิมพ์)


กรมศิลปากร. สุนทรภู่...ที่คนไทยไม่รู้จัก. กองบรรณาธิการ ศิลปวัฒนธรรม, 2547.


พระมหาอุดม อติเมโธ. พระพุทธเทวริลาส. กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์ธรรมรักษ์ราชบุรี, (ไม่ปรากฏปีที่พิมพ์)
เปลื้อง ณ นคร. สุนทรภู่ครูกวี. กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์ข้าวฟ่าง, 2542.


พระมหาสวัสดิ์ อหึสโก. สิ่งน่ารู้ในวัดอรุณราชวราราม. กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย, 2541.


นิดดา หงส์วิรัตน์. Temples วัด. กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์แสงแดด-เพื่อนเด็ก, 2544.





ตั้งอยู่เลขที่ 201 ถ.วิภาวดีรังสิต แขวงตลาดบางเขน เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร 10210
โทร. 0-2521-1457-8 FAX. 0-2551-2233
http://www.patai.th.edu E-Mail : patai1@patai.th.edu