Homepage Link
Earth
Environment
Phenomenon
Gallery
Link
Powered By
 

ที่มา : ผู้จัดการออนไลน์

แผ่นดินไหวใหญ่ในเอเชียอาจเปลี่ยนแปลงแนวแกนโลก และทำให้โลกหมุนเร็วขึ้นราวเศษเสี้ยววินาที ขณะภาพถ่ายดาวเทียมเผยให้เห็นหมู่เกาะบริเวณปลายแหลมทิศเหนือของสุมาตรา เคลื่อนตัวออกจากตำแหน่งที่ตั้งเดิม

ริชาร์ด กรอส นักธรณีฟิสิกส์ของห้องทดลองไอพ่นแห่งองค์การนาซ่า ในรัฐแคลิฟอร์เนีย ของสหรัฐฯ เผยเมื่อวันอังคาร (28) ว่า ในทางทฤษฎี การเปลี่ยนแปลงขนาดใหญ่สู่ศูนย์กลางโลก ระหว่างเกิดแผ่นดินไหวเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา จะส่งผลให้โลกหมุนรอบตัวเองเร็วขึ้น 3 ไมโครวินาที หรือ เศษหนึ่งส่วนล้านของวินาที อีกทั้งยังทำให้แกนโลกเอียงจากตำแหน่งเดิมราว 1 นิ้ว (2.5 ซม.)

กรอสกล่าวว่า เมื่อแผ่นเปลือกโลกใต้มหาสมุทรอินเดียเคลื่อนตัวซ้อนเกยกัน "มันจะส่งผลกระทบทำให้โลกบีบอัดตัวแน่นและหมุนเร็วยิ่งขึ้น"

เขาเผยว่า การเปลี่ยนแปลงซึ่งทำนายจากแบบจำลองนี้ อาจมีขนาดเล็กมากเกินกว่าที่เครือข่ายดาวเทียมบอกพิกัดโลก ซึ่งสำรวจการเปลี่ยนแปลงการหมุนของโลกโดยทั่วๆไป จะสามารถตรวจวัดได้ กระนั้น ข้อมูลที่ได้รับก็อาจเผยให้เห็นการคลาดเคลื่อนเล็กน้อย

โดยปกติขั้วโลกจะเคลื่อนที่เป็นวงกลมด้วยการเปลี่ยนแปลงของระยะทางราว 10 เมตร ดังนั้น การคลาดเคลื่อนที่เพิ่มขึ้นอีก 2.5 ซม. ไม่น่าก่อให้เกิดผลกระทบในระยะยาว

กรอสแนะว่า เมื่อการคลาดเคลื่อนสะสมตัวขึ้นเรื่อยๆ นักวิทยาศาสตร์ควรปรับเวลาช่วงสิ้นปี ด้วยการเพิ่ม "วินาทีกระโดด" นี้เข้าไป ซึ่งสิ่งนี้ยังไม่เคยมีใครทำมาก่อนในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

ฮิโร คานาโมริ นักศึกษาแผ่นดินไหวของคาลเทก กล่าวเสริมว่า บรรดานักวิทยาศาสตร์เคยสร้างทฤษฎีมานานแล้วว่า การเปลี่ยนแปลงบนพื้นผิวโลก อาทิ การเปลี่ยนแปลงของกระแสน้ำ น้ำบาดาล และสภาพอากาศ อาจกระทบต่อการหมุนของโลก แต่ก็ไม่สามารถตรวจวัดเพื่อพิสูจน์ได้อย่างถูกต้องแม่นยำ

"แม้เหตุการณ์เกิดขึ้นใหญ่มาก แต่ผลกระทบก็มีเพียงเล็กน้อย" คานาโมริอธิบายต่อว่า "มันยากมากที่จะเปลี่ยนแปลงอัตราการหมุนของโลกอย่างเป็นเรื่องเป็นราว"

ด้านเคน ฮัดนัต นักธรณีฟิสิกส์ของสหรัฐฯ เผยว่า จากภาพถ่ายดาวเทียมเหตุแผ่นดินไหว 9.0 ริกเตอร์ ใกล้เกาะสุมาตราของอินโดนีเซีย พบว่า หมู่เกาะนิโคบาร์ และเกาะซีมิวลู ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของจังหวัดอาเจะห์ มีการเคลื่อนตัวออกห่างจากปลายเหนือสุดของสุมาตรา เป็นระยะทางที่ยังไม่สามารถระบุได้แน่ชัด

ฮัดนัต บอกว่า ถึงแม้ข้อมูลชี้ชัดว่า แผ่นเปลือกโลกใต้พื้นผิวมหาสมุทรลึก 20 กม. เกิดการเคลื่อนที่อย่างรุนแรง ทว่า นักวิทยาศาสตร์ยังคงจำเป็นต้องใช้ระบบบอกพิกัดจากดาวเทียม เพื่อศึกษาหาระยะทางการเคลื่อนที่ที่แน่นอนในบริเวณนี้เพิ่มเติม

http://www.icygang.com/hothilights/view.php?category_id=7&news_id=1475